สมัยกรุงธนบุรี


สมัยกรุงธนบุรี
      ใน พ.. ๒๓๒๐ กองทัพกรุงธนบุรีได้ยกไปตีเมืองบุรีรัมย์ และจากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ กล่าวว่าใน พ.. ๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพทางบก นำทัพสมทบกับกำลังเมืองตะวันออก    ให้เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวา-ธิราช เป็นแม่ทัพยกไปเกณฑ์เขมรต่อเรือรบ ยกขึ้นไปทางแม่น้ำโขง เพื่อตีเมืองนครจำปาศักดิ์ ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพมานี้ ปรากฏประวัติเมืองบุรีรัมย์ว่า ใน พ.. ๒๓๒๑ พระยานางรองเป็นกบฎโดยคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มาปราบปรามเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเหล่านี้ให้เป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมาตามเดิม
     แต่ตามจดหมายจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ นั้นกล่าวว่า เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ครั้งนั้นชื่อ เจ้าไชยกุมารฯ พ่ายแพ้แก่กองทัพกรุงธนบุรี จึงถูกคุมตัวไปยังกรุงธนบุรี แต่ในที่สุดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปนครจำปาศักดิ์ ในฐานะประเทศราชอีก ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเดินทัพมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์เดี๋ยวนี้ หนังสืออ่านเรื่องจังหวัดบุรีรัมย์ตีพิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กล่าวว่า พระองค์ได้พบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจรเข้มาก มีชัยภูมิดี แต่สถานที่เดิมมีไข้เจ็บชุกชุม เขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านอยู่โดยรอบ คือ บ้านโคกหัวช้าง บ้านทะมาน (บริเวณสนามบินปัจจุบัน) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองร้างนั้นที่ข้างต้นแปะใหญ่ (ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองปัจจุบันนี้) และโปรดเกล้าฯ ให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสง ซึ่งติดตามมาพร้อมด้วยครอบครัวเป็นเจ้าเมืองแล้วชักชวนให้ชาวเขมรป่าดงนี้ มาตั้งหลักแหล่งทำเรือกสวน ไร่ นา ในเมืองร้างจนเป็นปึกแผ่น เมืองนี้จึงใช้นามว่า  เมืองแปะ บุตรเจ้าเมืองพุทไธสงสมัยนี้ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี เมื่อพระยานครภักดีวายชนม์ลง บุตรชื่อนายหงส์ เป็นเจ้าเมืองแทน ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี เมื่อ พ.. ๒๓๕๐
นอกจากนี้ปรากฏจากพงศาวดารเมืองสุรินทร์ว่า ในจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู ตรีศก ตรงกับ พ.. ๒๓๒๔ ทางฝ่ายเขมรเกิดจลาจลโดย เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิบูลราช (ชู) คิดกบฎจับสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชาไปถ่วงน้ำเสีย ยกนักองค์เองขึ้นเป็นเจ้าแล้วกลับไปฝักใฝ่ทางญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปรามโดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ แล้วไปตีเมืองประทายเพ็ชร ประทายมาศ ประทายสมันต์ กำแพงสวาย เสียมราฐ แต่การยกทัพไปปราบปรามยังมิทันราบคาบดี ข้างฝ่ายใน    กรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดินมีสติวิปลาศ ทรงประพฤติการวิปริตต่างๆ  บ้านเมืองกำลังระส่ำระสายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทราบข่าวจำเป็นต้องกลับคืนสู่พระนคร บ้านเมืองที่ตีได้ก็กวาดต้อนและ  แตกตื่นอพยพมาบ้าง ทั้งพระสุรินทร์ภักดีณรงค์จางวาง ก็ได้มีหนังสือลงไปเกลี้ยกล่อมญาติพี่น้อง ปรายเขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำแพงสวาย ประทายเพ็ชร ให้ขึ้นมาทางบน ออกญาแอก กับนางรอง พาบ่าวไพร่ไปตั้งอยู่ที่นางรอง ออกญาหงษ์ ไปตั้งอยู่ที่โคกเมืองแปะ (ที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน)


บริเวณข้างวัดกลางบุรีรัมย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น