บุรีรัมย์ตำน้ำกิน


 บุรีรัมย์ตำน้ำกิน

บุรีรัมย์ตำน้ำกิน เป็นคำพังเพยในอดีตที่แสดงถึงภาวะการขาดแคลนน้ำในบริเวณพื้นที่อันเป็นเขตการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์สมัยก่อนที่นำเอาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
กรรมวิธีที่ได้ชื่อว่าเป็นการตำน้ำกิน คือการขุดหลุมดินขนาดย่อมขึ้นก่อน แล้วตักเอาโคลนตมในบ่อ สระ หรือบึง มาใส่หลุมที่ขุดไว้ และย่ำด้วยเท้าจนเป็นเลน
หรือนำมาใส่ครุไม้ไผ่ยาชัน แล้วตำด้วยไม้ให้โคลนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน น้ำจากโคลนเลนจะปรากฏเป็นน้ำใสอยู่ข้างบนตักไปใช้บริโภคได้ แก้ปัญหาการ        ขาดแคลนน้ำอันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปได้
บุรีรัมย์ตำน้ำกิน เป็นคำพังเพยที่อยู่ในความทรงจำ และความภาคภูมิใจ ในอดีตของชาวบุรีรัมย์ ในฐานะที่เป็นคำพังเพยที่แสดงถึงความยากลำบากและทรหดอดทนของบรรพบุรษผู้บุกเบิกแผ่นดิน ให้ประโยชน์ตกทอดแก่ลูกหลาน เหลน ในปัจจุบัน และในฐานะที่สามารถนำความรู้    เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างเฉลียวฉลาด
ปัจจุบันภาวะเรื่องน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เพิ่มขึ้น และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็ได้ปิดกั้นทำนบ เหมืองฝาย และ ขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สร้างสระน้ำมาตรฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก    นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นสร้างถังเก็บน้ำฝน สระน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล หอถังจ่ายน้ำโดยสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี  ทำให้ความหมายและภาพพจน์ของคำพังเพยดังกล่าวได้หมดไปแล้วในปัจจุบัน


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท, ๒๕๒๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น